เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 คณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก หัวหน้าคณะ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.สุนันชัย ออนตะไคร้ และ อาจารย์ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒนะ ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทของโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว โดยมี ผู้อำนวยการพงษ์ธาดา สุภาแสน ผู้จัดการ-ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา พร้อมด้วยคณาจารย์ ให้การต้อนรับ
ผู้อำนวยการพงษ์ธาดา สุภาแสน กล่าวโดยสรุปว่า โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยาได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในขององค์กร และมุ่งพัฒนานักเรียนผ่านการบริหารจัดการ 4 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 วิชาการ ด้านที่ 2 ความประพฤติและความยุติธรรม ด้านที่ 3 สุขภาพอนามัยของนักเรียน และด้านที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ
นอกจากนี้ โรงเรียนได้เน้นการเอาอัตลักษณ์เชิงพื้นที่เข้ามาพัฒนานักเรียนอีกด้วย ซึ่งอำเภอฝางมีจุดเด่นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส้มสายน้ำผึ้ง ข้าว การท่องเที่ยว ชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ และเรื่องของดอยอ่างขาง รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์บ่อน้ำมันฝาง แหล่งเรียนรู้ที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจปิโตเลียมในไทย
ครูชุณหพิมาน กำละ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนรัตนาเอื้อมีการออกแบบ “หลักสูตรท้องถิ่นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดี มีสัมมาชีพ สำนึกรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งมุ่งพัฒนาผู้เรียนได้เรียนรู้ภูมิหลัง วิถีการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและทรัพยากรของอำเภอฝาง เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความรัก ความภาคภูมิใจ และเป็นกำลังสำคัญในการบำรุงรักษาให้เกิดความยั่งยืน
โดยทางโรงเรียนได้แบ่งกระบวนการเรียนรู้เรื่องเมืองฝางออกเป็น 4 กลุ่ม 6 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เรียนหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ‘ภูมิใจในบ้านเกิด’ เพื่อให้นักเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นของตนเอง เกิดความสำนึกรักษ์บ้านเกิด กลุ่มที่ 2 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เรียนหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ‘รวงข้าวรวงทองของเมืองฝาง’ กลุ่มที่ 3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เรียน 2 หน่วยการเรียนรู้ คือ หน่วยที่ 3 ‘อ่างขาง หัวใจแห่งขุนเขา’ และหน่วยที่ 4 ‘ความงดงามของพหุสังคม’ และกลุ่มที่ 4 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เรียน 2 หน่วยการเรียนรู้ คือ หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 ‘ทรัพย์สินจากพื้นดินถิ่นเมืองฝาง’ และ หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 ‘พลังงานทดแทน’
ครูชุณหพิมานกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเรียนจบแล้วนักเรียนทุกช่วงชั้นต้องมีผลงานและเกิดสมรรถนะติดตัวไป ซึ่งจะเริ่มใช้กระบวนการเรียนการสอนนี้ในปีการศึกษา 2564 เริ่มจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1,4 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1,4 โดยมีการนำปัญหาและอุปสรรคที่พบในแต่ละปีมาปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาหลักสูตรต่อไป
นอกจากนั้นแล้ว โรงเรียนยังมีวิชาชุมนุมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมตามความสนใจ ซึ่งนักเรียนหลายคนสามารถต่อยอดอาชีพจากการเข้าร่วมในวิชาชุมนุม เช่น สามารถเป็นช่างฟ้อน เป็นช่างทำกลองไทใหญ่ ทำหัวโต อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงกิงกะหร่า–โต การแสดงของชาติพันธุ์ไทใหญ่ รวมทั้งสามารถทำอาหารไทใหญ่จำหน่ายได้
“ทางโรงเรียนต้องการให้นักเรียนมีความภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในบ้านเกิด และต้องมีสัมมาอาชีพในการเลี้ยงตนเอง โดยเราต้องการให้เด็กค้นพบตัวตน ความชอบ ความถนัด และหนทางสู่อาชีพที่เขาต้องการตั้งแต่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา” ครูชุณหพิมาน กล่าวเสริม
ครูกรวรรณ พนาวงค์ ปราชญ์ชุมชน กล่าวว่า ในอนาคต ตนคาดหวังให้เด็กในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นนวัตกรน้อย และไม่ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน โดยมีการนำไปปรับใช้ในชีวิตอย่างพอดี ไม่สุดโต่งจนเกินไป ทั้งยังต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกด้วย