คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านขอบด้ง เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตนกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 22 มกราคม 2564
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 554 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านขอบด้ง เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตนกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่

            เมื่อ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมคณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดยหัวหน้าทีมลงพื้นที่ ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.สุนันชัย ออนตะไคร้ และ อาจารย์ ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒนะ ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

         ผอ.สุนทร เกษเกษี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขอบด้ง บอกเล่าว่า นักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด มีด้วยกัน 2 ชนเผ่า คือ มูเซอร์ดำ หรือลาหู่ และชนเผ่าปะหล่อง หรือดาราอั้ง โรงเรียนบ้านขอบด้งมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 304 คน และมีครูผู้สอนทั้งหมด 15 คน จากการศึกษาสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงเรียนมุ่งจัดการศึกษาที่สนองต่องานอาชีพเป็นหลัก

            ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะขึ้น โดยมีการรวมกลุ่มกัน 5 โรงเรียนในพื้นที่อ่างขาง ได้แก่ โรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนเทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์  โรงเรียนสันติวนา และโรงเรียนบ้านผาแดง ซึ่งเป็นการจัดการศึกษากลุ่มโรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร “อ่างขางโมเดล (Angkhang Model)” โดยทางโรงเรียนได้ทำ Social Mapping ในการวิเคราะห์ความต้องการและพื้นฐานของชุมชนในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการทำหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งโรงเรียนได้ยึดสมรรถนะหลัก 6 สมรรถนะที่สำคัญ ปัจจุบันการจัดทำหลักสูตรนี้อยู่ในขั้นตอนการเขียนรายละเอียดของหน่วยการเรียนรู้ อีกทั้งมีการวางแผนไว้ว่าจะนำเอาชุมชนเข้าสู่การเรียนรู้ในทุกสมรรถนะ คาดว่าจะนำไปใช้ในการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 ที่จะถึงนี้

“อยากสร้างคุณภาพการศึกษาให้กับพื้นที่ของตัวเอง สร้างหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ รวมทั้งสร้างพื้นฐานอาชีพในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขอบด้ง กล่าวเพิ่มเติม

            นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อย ทำให้นักเรียนที่นี่ไม่เขินอาย และมีความกล้าแสดงออกสูง เนื่องจากมีการพบปะผู้คนและนักท่องเที่ยวบ่อยครั้ง นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีการส่งเสริมความรู้ด้านเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) ให้นักเรียนอีกด้วย

         คุณครูกัลยา ใจคำ ครูผู้สอนโรงเรียนบ้านขอบด้ง กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีกระบวนการเรียนการสอนที่อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยโรงเรียนมีชุมนุมประดิษฐ์ที่จุดประกายให้เด็กสามารถออกแบบ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น “หญ้าอิบูแค” เป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ต่างหู ปิ่นปักผม สร้อยคอ พวงกุญแจ รวมทั้งมีการให้ความรู้นักเรียนในเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำธุรกิจ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นักเรียนจัดทำผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าของโรงเรียน “แนวคิดพื้นฐานในการทำคือ จะทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน”

#