คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. มุ่งสร้างความเข้าใจแก่ ผอ. และครูโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 15 แห่ง ก่อนลงพื้นที่ขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครู

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 18 กันยายน 2563
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 314 คน
 คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. มุ่งสร้างความเข้าใจแก่ ผอ. และครูโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 15 แห่ง ก่อนลงพื้นที่ขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครู
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดการประชุมกลไกขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ นำโดยคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. พร้อมทีมวิจัย ผู้อำนวยการ และคณะครูโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 15 แห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจและทำการเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรงเรียนก่อนการลงพื้นที่

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ที่ห้องประชุม 45 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการจัดการประชุม “กลไกขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่” โดยในงานมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. เป็นประธาน พร้อมด้วยทีมวิจัยที่จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครูจากโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 15 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนยางเปา โรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนบ้านกองลม โรงเรียนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 13 โรงเรียนแม่แจ่ม โรงเรียนพร้าวบูรพา โรงเรียนแม่แตง โรงเรียนบ้านพันตน โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม โรงเรียนอนุบาลสุมาลี โรงเรียนบ้านพระนอน โรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ จำนวนกว่า 80 คน ร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจก่อนการลงพื้นที่เพื่อการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 15 แห่ง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแบ่งกลุ่ม 6 กลุ่ม ตามหัวหน้าทีมวิจัยที่ดูแลรับผิดชอบในแต่ละโรงเรียน เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น อาทิ จุดเด่นของโรงเรียน นวัตกรรมที่โรงเรียนมีอยู่เดิม ความพร้อมในการดำเนินงานของโรงเรียน รวมทั้งความคาดหวังในการเสริมสร้างสมรรถนะทั้งครูและนักเรียน โดยข้อมูลเหล่านี้จะนำไปวิเคราะห์และปรับใช้ในการลงพื้นที่พัฒนาสมรรถนะครูเพื่อขับเคลื่อนในครั้งต่อไป